นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารและตัวแทนกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) เป็นโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง ดำเนินโครงการฯ ให้เอกชนร่วมลงทุน ในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา Operation and Maintenance (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้กรมทางหลวงดำเนินการในขั้นตอนการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมาตามลำดับ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งถือเป็นการใช้รูปแบบ PPP ในการพัฒนาและบริหารจัดการระบบมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงที่เป็นโครงการแรกในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนและบุคลากรของภาครัฐได้อย่างมาก
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญระหว่างกรมทางหลวงและกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งเป็นการรวมตัวของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) โดยรายละเอียดของสัญญาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M – Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุมและอาคารสำนักงานต่างๆ และระยะที่ 2 เมื่อเปิดเส้นทางให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปีหลังเปิดให้บริการ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบและค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงาน และบำรุงรักษา โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ตามที่กรมทางหลวงกำหนดไว้
กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR กล่าวว่า ทางกลุ่ม BGSR มีความยินดีที่ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากกรมทางหลวง ในการร่วมพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทยให้มีความทันสมัยเทียบชั้นกับนานาอารยประเทศได้ กลุ่ม BGSR ได้นำเทคโนโลยีระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หรือ Free Flow มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบมอเตอร์เวย์ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนในยุคดิจิทัล ช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคลตามแนวทางการปฏิบัติของยุค New Normal พร้อมทั้งนำระบบบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ เช่น ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนอุบัติเหตุอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้อย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับผู้ใช้ทาง
ทั้งนี้ กลุ่ม BGSR มีความพร้อมที่จะเริ่มงานทันทีที่ตรวจรับพื้นที่จากกรมทางหลวงเสร็จสิ้น เพื่อให้กรมทางหลวงสามารถเปิดใช้เส้นทางทั้ง 2 โดยเร็วที่สุด เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นอีกหนึ่งเส้นทางโลจิสติกส์สายสำคัญของไทยที่เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่โซนภาคตะวันตกและภาคใต้ เพื่อเชื่อมฐานการผลิตและการส่งออก รองรับแผนการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคมในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง ได้เร่งผลักดันการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง ทั้งในส่วนการก่อสร้างงานโยธาและการติดตั้งงานระบบภายใต้สัญญา PPP ให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่ง สร้างความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางสู่ภูมิภาคต่างๆ และเสริมประสิทธิภาพการขนส่งและระบบโลจิสติกส์อีกด้วย