ประวัติและความเป็นมา
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ และ พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามลำดับ โดยมี ๒ สายทาง ระยะทาง ๑๔๖ กิโลเมตร คือ
๑. ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ เส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่ (มอเตอร์เวย์) ระยะทาง ๘๒ กิโลเมตร เปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ๒ ด่าน คือ ด่านฯ ลาดกระบัง และ ด่านฯ พานทอง
๒. ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เส้นทางสายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (ตอนบางปะอิน-บางพลี) ระยะทาง ๖๔ กิโลเมตร เปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๒
ทั้ง ๒ เส้นทาง เป็นทางหลวงพิเศษที่มีการควบคุมทางเข้า – ออก แบบสมบูรณ์ (Full Control of Access) โดยกั้นรั้วถาวรตลอดแนวทาง เป็นทางหลวงที่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในระบบเปิด ซึ่งในแต่ละด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางด้วยระบบตั๋วในอัตราคงที่ คือ รถยนต์ ๔ ล้อ ๓๐ บาท รถยนต์ ๖ ล้อ ๕๐ บาท และรถยนต์มากกว่า ๖ ล้อ ๗๐ บาท
ระบบเปิด (Opened System) เป็นระบบที่มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ณ จุดทางเข้าสู่ระบบหรือจะ ตั้งบนทางหลักของทางหลวงพิเศษ (Barrier Type) เป็นช่วงๆ ซึ่งทั้งสองแบบผู้ใช้ทางจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมผ่านทางทุกครั้งที่ผ่านด่านฯ ในอัตราที่กำหนด
ระบบปิด (Closed System) เป็นระบบที่ผู้ใช้ทางต้องรับบัตร (Smart Card) ของทางหลวงพิเศษ และต้องคืนบัตรที่บริเวณทางออกเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมผ่านทาง ตามระยะทางที่ใช้จริง ซึ่งการดำเนินการในระบบปิดจะต้องมี ด่านเก็บเงินทุกๆ จุดเข้า-ออก ของทุกทางแยกต่างระดับ
ปัจจุบันมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง บนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ (บางปะอิน - บางพลี) เป็น ระบบเปิด และยังมิได้มิการกำหนดให้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบปิด มีจำนวน ๓ ด่าน (ด่านฯ ธัญบุรี, ด่านฯ ทับช้าง๑, ด่านฯ ทับช้าง๒) ซึ่งด่านทับช้าง ๒ ได้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงด่านเก็บเงินทับช้างและขยายด่านทับช้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕ และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางตั้งแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
และมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) เป็นระบบปิด มีจำนวน ๕ ด่าน คือ ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ๒ ด่าน คือ ด่านฯ ลาดกระบัง และด่านฯ พานทอง เก็บค่าธรรมเนียมด่านละ ๓๐ บาท สำหรับรถยนต์ ๔ ล้อ และมีทางเข้า-ออก อีก ๓ จุด คือ แยกบางบ่อ (ด่านฯ บางบ่อ) แยกบางปะกง (ด่านฯ บางปะกง) แยกพนัสนิคม (ด่านฯ พนัสนิคม)
กรมทางหลวง ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางถาวรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ แล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๖ ประกอบด้วยงานโยธา งานก่อสร้างอาคารศูนย์ควบคุมในพื้นที่ก่อสร้าง ๖ แห่ง ได้แก่บริเวณทางแยกต่างระดับลาดกระบัง บริเวณด่านลาดกระบังเดิม บริเวณบางบ่อ (แยกเข้ามาจาก ถ.บางนา-ตราด) บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะกง บริเวณทางแยกต่างระดับพานทอง และบริเวณด่านพานทองเดิม
งานระบบจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางและงานระบบอำนวยความปลอดภัยด้านการจราจร ซึ่งในส่วนของงานระบบจัดเก็บฯ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบเปิด ในปัจจุบันเป็นระบบปิด (Closed System) โดยสมบูรณ์ เป็นครั้งแรกของกรมทางหลวง นอกจากนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บฯ จากการฉีกบัตรจากต้นขั้วในระบบเปิดมาเป็นการจัดเก็บฯ ในระบบปิด การใช้บัตร Smart Card ที่รับจากต้นทางแล้วมาจ่ายเงินที่ปลายทางประกอบด้วย ด่านลาดกระบัง ด่านบางบ่อ ด่านบางปะกง ด่านพนัสนิคมและด่านพานทอง และงานระบบจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง (Toll Collection System) ประกอบด้วย ๒ ระบบหลักได้แก่
- ระบบเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางด้วยบัตร Smart Card ระบบนี้จะใช้พนักงานจ่ายบัตร Smart Card ที่บริเวณด่านเข้า
- จ่ายเงินค่าผ่านทางตามอัตราที่กำหนด เมื่อนำบัตรนี้คืนให้พนักงานที่บริเวณด่านขาออก
๔ มกราคม ๒๕๕๗ กรมทางหลวงได้เริ่มทดลองใช้ระบบปิด (Close System) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ เป็นการรับบัตรด่านฯ ขาเข้าจ่ายเงินด่านฯ ขาออก โดยจะเปิดใช้งานระบบปิด ในอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางเดิม เป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้ใช้ทางและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ตามแผนจะใช้เวลาในการทดลองและประเมินผล ๒-๓ เดือน เมื่อเปิดใช้งานระบบปิดอย่างเต็มรูปแบบแล้ว จะเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางตามระยะทาง ซึ่งกรมทางหลวงจะกำหนดราคาตามกฎกระทรวง
ระบบเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System หรือ ETC) เป็นระบบ ที่ผู้ใช้ต้องติดเครื่องรับสัญญาณไว้ที่กระจกหน้ารถ โดยเมื่อรถวิ่งผ่านด่านฯ อุปกรณ์ที่ช่องทางจะส่งสัญญาณติดต่อ กับเครื่องรับสัญญาณ เพื่อตรวจสอบข้อมูลในบัตร หากถูกต้องคอมพิวเตอร์จะสั่งให้ไม้กั้นช่องทางเปิดให้รถผ่านได้ โดยระบบจะหักค่าผ่านทางในบัตรและแสดงอัตราค่าผ่านทางและยอดเงินคงเหลือ ที่ป้ายราคาประจำช่องเก็บเงิน ให้ทราบ ระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหารถติดบริเวณหน้าด่านได้เป็นอย่างดี โดยนำบัตร M-Pass มาให้บริการ เพื่อลดปัญหาการจราจรหนาแน่นหน้าด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง และเสริมสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง ให้กับประชาชน โดยมอบหมายและร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในการดูแลผู้ใช้บริการ ทั้งในด้านการกระจายบัตร การเติมเงิน ตรวจสอบดูแลบัญชี และบริหารจัดการธุรกรรมทางด้านการเงินและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ M-Pass ใช้ได้กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๙ (ช่วงบางปะอิน - บางนา) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๗ (กรุงเทพ-ชลบุรี)